นอนกัดฟัน เกิดจากอะไร?

 In Lifestyle, สุขภาพปาก

นอนกัดฟัน เกิดขึ้นได้อย่างไร 

อาการ นอนกัดฟัน ทั่วไปแล้วอาจจะมีผลกับคนที่นอนข้าง ๆ  ไม่ต่างกับการนอนกรน ก็ถือว่าเป็นการรบกวนคนข้าง ๆ ขณะเวลานอนนั่นเอง แล้วถ้านอนคนเดียวล่ะ จะสังเกตตนเองได้อย่างไรว่าเรานอนกัดฟันหรือเปล่า?

ผู้ที่นอนกัดฟันส่วนใหญ่ ถือเป็นความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่ง ที่สอดคล้องไปกับความผิดปกติของการบดเคี้ยวหรือมีปัญหาในเรื่องการทำงานของขากรรไกร

 

สังเกตอย่างไรว่าเรา นอนกัดฟัน หรือเปล่า

  • คนที่นอนร่วมกับเราจะเป็นผู้ที่บอกได้ชัดเจนที่สุด เพราะการนอนกัดฟันจะเกิดเสียงเสียดสีของฟันที่ดังไม่ต่างจากเสียงนอนกรน แต่ในกรณีกัดฟันแน่น ไม่มีการเสียดสีไถไปไถมา ก็จะไม่เกิดเสียง

นอนกัดฟัน-01

  • ตื่นนอนแล้วรู้สึกเมื่อยหน้า เมื่อยแก้ม หรือมีอาการปวดศีรษะ มีความรู้สึกว่าขยับขากรรไกรลำบาก
  • การสบฟันมีความผิดปกติ โดยบริเวณแก้มด้านในและขอบลิ้นมีรอยหยักตามแนวสบฟันชัดเจน กรณีนี้อาจจะต้องเข้าพบทันตแพทย์เพื่อใช้เครื่องมือผ่านการทดสอบการนอนกัดฟัน

 

ทำไมถึง นอนกัดฟัน

  • ความเครียด ความวิตกกังวล สภาวะทางจิตใจที่มีความกดดันหรือมีความเครียดระหว่างการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดภาวการณ์นอนกัดฟันได้โดยไม่รู้ตัว
  • สุขภาพช่องปากและฟัน อาจจะมีการสบฟันที่ผิดปกติ การเรียงตัวของฟัน ไม่ว่าจะเป็นฟันซ้อน ฟันเก ทำให้มีผลในเรื่องของการบดเคี้ยว จึงทำให้เวลานอนเกิดการกัดฟันขึ้น 
  • โรคบางชนิด เช่น โรคพาร์กินสัน เนื่องจากมีการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ

 

สามารถแก้ไขการนอนกัดฟันได้ไหม

การรักษาหรือแก้ไขได้ 2 วิธีหลัก ๆ คือ การแก้ไขพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง เมื่อทราบแล้วว่ามีอาการนอนกัดฟัน สิ่งแรกที่ต้องสำรวจตนเองก่อนเลยว่าในแต่ละวันหรือการใช้ชีวิตประจำวัน มีความเครียดหรือเปล่า หรือมีความวิตกกังวลกับเรื่องใดอยู่หรือไม่ การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตสามารถทำได้ด้วยตนเอง คือ วิธีการผ่อนคลาย ที่สามารถทำได้ด้วยการทำสมาธิ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สภาวะทางจิตใจรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น 

นอนกัดฟัน-02

อีกวิธีหนึ่ง คือ การรักษาด้วยวิธีทางทันตกรรม โดยการปรึกษาทันตแพทย์ถึงปัญหาการนอนกัดฟันที่เกิดจากสุขภาพช่องปากและฟันมีปัญหา ซึ่งทันตแพทย์อาจจะรักษาโดยใช้เฝือกสบฟัน เพื่อป้องกันฟันสึก ฟันแตก ฟันหัก และช่วยผ่อนคลายให้กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรมีความเกร็งและความตึงน้อยลง แต่ในกรณีที่ใช้วิธีการใช้เฝือกแล้วอาการ

ยังไม่ดีขึ้น หรือการนอนกัดฟันยังไม่หายไป ทันตแพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีการจัดฟัน เพื่อให้การเรียงตัวของฟันอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการสบฟัน การบดเคี้ยว รวมถึงแก้ปัญหาการนอนกัดฟันได้ดีขึ้นด้วย

 

อย่าลืมสังเกตตนเอง หรือถามคนข้าง ๆ ว่าได้ยินเสียงเรานอนกัดฟันหรือเปล่า นอกจากเป็นการใส่ใจคนข้าง ๆ แล้ว ยังสามารถรับรู้ถึงปัญหาระหว่างการพักผ่อนของตนเองได้ด้วย เพื่อที่จะได้หาวิธีทางแก้ปัญหาและวิธีการรักษาได้ถูกจุดว่าการนอนกัดฟันของเราเกิดจากอะไร หรือทางที่ดีที่สุด ควรเข้าพบทันตแพทย์ตรวจเช็กสุขภาพช่องปากและฟันอย่างน้อย 6 เดือนครั้ง เพื่อตรวจสอบความผิดปกติถึงสุขภาพฟันหรือไม่

ติดตามวิธีการดูแลรักษาฟันทุกรูปแบบ หรือทริคเกี่ยวกับทันตกรรมต่าง ๆ ที่ เพิ่มเติมได้ที่ https://theorange-dentalclinic.in.th/

Recent Posts

Start typing and press Enter to search